สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือนในวันพุธ (27 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ การที่สัญญาทองคำดิ่งหลุดจากแนวรับที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงขายทางเทคนิค
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 28.90 ดอลลาร์ หรือ 1.51% ปิดที่ 1,890.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2566
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 47.20 เซนต์ หรือ 2.03% ปิดที่ 22.724 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 17.90 ดอลลาร์ หรือ 1.96% ปิดที่ 896.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1223.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ระดับ 106.6639 เมื่อคืนนี้ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
รูเพิร์ต โรว์ลิง นักวิเคราะห์จากบริษัท Kinesis Money กล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาทองได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่การที่ดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้น ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ดี เขาคาดว่าราคาทองคำจะกลับมาฟื้นตัวในไม่ช้านี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นอกจากนี้ นักลงทุนยังติดตามการแสดงความเห็นนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการประชุมทาวน์ฮอลล์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ขอบคุณข้อมูลจาก ryt9